ldd ข่าวประกาศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 9  
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 9 พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัดร่วมลงพื้นที่ติดตามการตรวจราชการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ สันฝ่ายเก่าบึงบอระเพ็ด
 
นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครสวรรค์ ติดตามการบริหารจัดการน้ำ บึงบอระเพ็ด “สี่แควโมเดล” และความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566 เวลา 09.30 น. นายสมบูรณ์ ธิจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 9 พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัดร่วมลงพื้นที่ติดตามการตรวจราชการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ สันฝ่ายเก่าบึงบอระเพ็ด พื้นที่หมู่ 8 ตำบลหนองปลิง และ หมู่ 1 ตำบลพระนอน อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยมี นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ให้การต้อนรับและรายงานความเป็นมาแนวทางการบริหารจัดการน้ำ "สี่แควโมเดล" และดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการหน่วงน้ำช่วงฤดูน้ำหลากในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ✨️️ “สี่แควโมเดล” เป็นการร่วมมือกันของจังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร และสุโขทัย ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ได้มีการประชุมปฏิบัติการถอดบทเรียนจากบางระกำโมเดลสู่สี่แควโมเดล เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำอย่างเต็มรูปแบบ ได้แก่ การพัฒนาระบบปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่หน่วงน้ำ การติดตั้งระบบควบคุมน้ำและระบบติดตามระดับน้ำ การเสริมคันและเส้นทางคมนาคมเพื่อปิดล้อมพื้นที่สำคัญ การปรับปรุงโครงข่ายระบบกระจายน้ำ การจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำ ตลอดจนการพัฒนาแนวทางยกระดับรายได้เกษตรกรรม การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร และการส่งเสริมการประกอบอาชีพในฤดูน้ำหลาก โดยดำเนินการพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำใน 8 พื้นที่ ระหว่างปี พ.ศ.2566-2568 เป็นพื้นที่เกษตรกรรมลุ่มต่ำ 1.3 ล้านไร่ รวมได้ปริมาณน้ำ 1,680 ล้าน ลบ.ม. เป็นปริมาณการหน่วงน้ำในจังหวัดนครสวรรค์ 1,080 ล้าน ลบ.ม. และอีก 600 ล้าน ลบ.ม. อยู่ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร และหากรวมพื้นที่ในโครงการชลประทานที่อยู่เหนือจังหวัดนครสวรรค์แล้วจะสามารถรับน้ำได้รวม 3,000 ล้าน ลบ.ม. แนวคิด “สี่แควโมเดล” ในการเป็นทุ่งหน่วงน้ำเพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านบรรเทาอุทกภัยและการสงวนน้ำต้นทุนเพื่อเกษตรกรรม ด้วยแนวทาง 3 ประการ คือ 1) เป็นพื้นที่เกษตรกรรมรับน้ำหลากที่น้ำท่วมโดยธรรมชาติ 2) เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำต้นทุนสามารถเริ่มเพาะปลูกก่อนและเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนน้ำหลาก และ 3) เป็นพื้นที่เกษตรกรยินยอมมีส่วนร่วมและปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืน

ประกาศโดย: สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 9 / เข้าชม: 925


\